ประวัติวัด

วัดเพชรสมุทรวรวิหาร

ประวัติวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
        วัดเพชรสมุทรวรวิหารเป็นวัดสำคัญที่สุด ในจังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากวัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เรียกว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" เป็นที่เลื่องลือรู้จักกันทั่วไปในหมู่พุทธศาสนิกชน เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มานมัสการกันมาก เรียกว่าผู้ใดไปสมุทรสงคราม ไม่รู้จักหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนไม่รู้จักเมืองสมุทรสงครามทีเดียว
        วัดเพชรสมุทร เดิมเรียกว่า "วัดบ้านแหลม" ในสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่า "วัดศรีจำปา" วัดนี้ตั้งอยู่ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม  ตำบลแม่กลองเป็นตำบลที่มีชื่อมาแต่โบราณ เข้าใจว่าชาวอำเภอแม่กลอง (เดิม) ในจังหวัดอุทัยธานี อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในถิ่นนี้ก่อนผู้อื่น ชาวอำเภอแม่กลอง (เดิม) ในจังหวัดอุทัยธานี เป็นชาวแม่น้ำเคยอยู่ริมแม่น้ำกำแพงเพชรมาก่อน แต่เมื่อแม่น้ำกำแพงเพชรตื้นเขินสายน้ำเปลี่ยนทางเดิน การทำมาหากินของราษฎรชาวอำเภอแม่กลองฝืดเคือง จึงได้พากันอพยพมาอยู่ถิ่นนี้ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมปากอ่าว แล้วเรียกหมู่บ้านของตนว่า "หมู่บ้านแม่กลอง" ตามชื่อบ้านเดิมของตน การเอาชื่อบ้านเดิมของตนมาตั้งชื่อบ้านในถิ่นใหม่นี้ เป็นเหมือนกันทุกชาติ เช่น ชาวอินเดีย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองไทย ก็ตั้งชื่อบ้านเมืองตามชื่อเมืองในอินเดีย เช่น เมืองราชบุรี ชาวอังกฤษไปอยู่อเมริกาก็ตั้งชื่อเมืองใหม่ตามชื่อเมืองในอังกฤษ เช่น นิวยอร์ค ชาวบ้านแหลมจากเมืองเพชรบุรีมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลแม่กลอง ก็เรียกหมู่บ้านของตนว่าบ้านแหลม เป็นต้น
            เมื่อชาวเรือไปมาทางแม่น้ำนี้ ก็เริ่มรู้จักบ้านแม่กลองก่อน จึงได้เรียกถิ่นนี้ว่า แม่น้ำแม่กลองเรื่อยขึ้นไปจนถึงราชบุรี กาญจนบุรี การเรียกแม่น้ำนี้ว่าแม่น้ำแม่กลอง ก็เรียกจากปากอ่าวขึ้นไปหาต้นน้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา เรียกจากตำบลเจ้าพระยาที่ปากน้ำเข้าไป เรียกแม่น้ำท่าจีน ก็เรียกจากปากน้ำท่าจีนเข้าไปเหมือนกัน
ชาวอำเภอแม่กลองที่อพยพมาอยู่ในถิ่นนี้ คงจะมาอยู่ตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๐ เพราะสมัยนั้นพระเจ้าอู่ทอง ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นทางใต้ กรุงสุโขทัยกำลังเสื่อมอำนาจตกมาถึงแผ่นดินขุนหลวงพะงั่ว ก็ยกทัพขึ้นไปตีกรุงสุโขทัยเข้ามาไว้ในอำนาจ ชาวแม่กลองซึ่งอยู่ทางเขตสุโขทัยคงจะอพยพเพราะหนีศึกสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัย ด้วยไม่ใช่จะหากินฝืดเคืองอย่างเดียว ตกมาถึงแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ปรากฏว่าตำบลแม่กลองตั้งขึ้นเป็นเมืองแม่กลองแล้ว มีเจ้าเมืองปกครอง แต่ยังขึ้นแก่เมืองราชบุรีตามระบอบการปกครองสมัยนั้น หัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นแก่กลาโหม หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นแก่มหาดไทย หัวเมืองชายทะเลขึ้นแก่กรมท่า เมืองใดเป็นเมืองจัตวา เจ้าเมืองมีศักดิ์เป็นหลวงหรือพระ เมืองใดเป็นเมืองตรี เจ้าเมืองมีศักดิ์เป็นพระหรือเจ้าพระยา เมืองแม่กลองเป็นเมืองตรีเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ว่า "พระแม่กลองบุรี" จนมีสร้อยต่อท้ายว่า "ศรีมหาสมุทร" หรือเปล่าไม่ทราบ แต่เมืองนนบุรีมีสร้อยว่า "ศรีมหาสมุทร" เมืองนนทบุรีมีสร้อยว่า "ศรีมหาเกษตร" เมืองแม่กลองขึ้นแก่เมืองราชบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองโท เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระยามีนามว่า "พระยาอมรินทรฤาชัย" แต่ในสมัยกรุงธนบุรีเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา คือเจ้าพระยาอมรินทรฤาไชย (เสม วงศาโรจน์)
         ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง หรือในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก่อนหน้านั้น ได้สร้างค่ายขึ้นที่เมืองแม่กลองเรียกว่า "ค่ายแม่กลอง" ปรากฏว่าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ ราชทูตฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้เดินทางไปเมืองตะนาวศรี ผ่านมาทางเมืองแม่กลอง เล่าไว้ว่าเมืองแม่กลองมีค่ายมีป้อมอยู่ ที่ค่ายนั้นมีกำแพงทำด้วยเสาเป็นเสาระเบียด เหมือนพะเนียดคล้องช้าง ครั้นถึงแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดให้ซ่อมค่ายแม่กลองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ เคยเสด็จยกทัพมาพักที่ค่ายแม่กลอง ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อยกมาตีค่ายบางกุ้ง พ.ศ. ๒๓๑๑ ครั้งที่ ๒ เมื่อไปตีค่ายบางแก้วเมืองราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗
         สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เคยเสด็จยกทัพมาพักพลที่ค่ายแม่กลองนี้ ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เคยเสด็จมาประทับและซ่อมแซมศาลาในวัดสมุทรสงคราม ที่ค่ายนี้ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระมหาอุปราชเคยเสด็จยกทัพมาพักพลที่ค่ายนี้ ในคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์นิราศนรินทร์ไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ (นิราศนรินทร์เป็นพระราชนิพนธ์ ของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์)
      ในแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า) มาเป็นผู้อำนวยการสร้างป้อมขึ้นที่ค่ายแม่กลองนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ พระราชทานนามว่า "ป้อมพิฆาตข้าศึก" ผู้บังคับการป้อมมีนามว่า "หลวงละม้ายแม้นมือฝรั่ง" ปลัดป้อมมีนามว่า "ขุนฉมังแม่นปืน" ชื่อค่ายแม่กลองลบเลือนไปเรียกว่า "ป้อมพิฆาตข้าศึก"
     ในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นายพลเรือเอกพระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต) มาอำนวยการสร้างโรงเรียนพลทหารเรือขึ้นที่ป้อมพิฆาตข้าศึก ได้รื้อกำแพงป้อมเสียหมด ตั้งแต่นั้นมาป้อมพิฆาตข้าศึกก็ลบเลือนไปอีก กลายเป็นกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ 
      เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ เลิกกิจการ จึงยกอาคารสถานที่ให้เป็นที่ทำการเมืองสมุทรสงคราม กองโรงเรียนทหารเรือก็ถูกรื้อไปอีกกลายเป็นศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม 
       เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ย้ายไปอยู่ที่สร้างใหม่ บริเวณศาลากลางจังหวัดเดิมจึงเป็นโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม โรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงครามปัจจุบันนี้ เดิมเป็นค่ายแม่กลองป้อมพิฆาตข้าศึก กองโรงเรียนพลทหารเรือ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม มาตามลำดับในระยะเวลาที่ผ่านมา ๔๐๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๐๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ส่วนตำบลแม่กลองนั้น ในสมัยโบราณประมาณแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๙๑ มีวัดอยู่ ๔ วัด คือ วัดเนินเดิมมี วัดศรีจำปา วัดป่าเลไลยก์ และวัดค่ายแม่กลอง
     วัดเนินเดิมมี ตั้งอยู่เหนือปากคลองแม่กลอง แม่กลองสมัยนั้นยังเป็นตำบลแม่กลองเป็นวัดโบราณ เข้าใจว่าสามพี่น้อง ชื่อเนิน, เดิม, มี สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาทรุดโทรมไปในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) ซึ่งเคยตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดนี้จึงได้สร้างขึ้นใหม่ มีอุโบสถศาลาการเปรียญและกุฏิสงฆ์เป็นวัดใหญ่โตสวยงามเพราะใช้ช่างหลวงสร้าง ประชาชนทั่วไปจึงเรียกว่า "วัดใหญ่" ต่อมาจนทุกวันนี้
      วัดป่าเลไลยก์นั้น ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า วัดหลังบ้าน ได้ร่วงโรยร้างไปเรียกว่า วัดหลังบ้านร้าง เนื่องจากอยู่หลังบ้านแหลม คือบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าปัจจุบัน (คือโรงเรียนเมืองสมุทรสงคราม)
     วัดค่ายแม่กลองนั้น ต่อมาเมื่อสร้างป้อมพิฆาตข้าศึกขึ้นก็เรียกว่า วัดหลังป้อม เพราะตั้งอยู่หลังป้อมพิฆาตข้าศึก ต่อมาก็ร้างไป แล้วยุบไปรวมกับวัดบางแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางแก้ว ลึกเข้าไปข้างในเรียกว่า "วัดป้อมแก้ว" บริเวณวัดหลังป้อมเดิม คือ ที่ทำการเทศบาลเมืองสมุทรสงครามทุกวันนี้ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในสำนักงานเทศบาล คือ พระประธาน ในอุโบสถวัดหลังป้อมเดิม (ซึ่งซ่อมขึ้นใหม่)


     ส่วนวัดศรีจำปา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ด้านทิศตะวันออก จำเนียรการต่อมาก็รกร้างร่วงโรยไปเหมือนกัน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๗ พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองเพชรบุรี กองทัพกรุงศรีอยุธยามีพระยาพิพัฒน์โกษากับพระยาตากสิน คือ (พระเจ้าตากสินมหาราช) ยกทัพไปช่วยรักษาเมืองไว้ พม่าจึงยกทัพกลับไป แต่ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลแม่กลอง เหนือวัดศรีจำปาริมคลองแม่กลอง จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแหลม" ตามชื่อบ้านเดิมของตนในเมืองเพชรบุรี ได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีจำปาให้เป็นปึกแผ่นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วเรียกวัดศรีจำปานี้ว่า "วัดบ้านแหลม"
     ชาวบ้านแหลมพวกนี้เป็นชาวประมง มีอาชีพออกตีอวนจับปลาในทะเล คราวหนึ่งได้ออกไปตีอวนในอ่าวแม่กลอง ได้พระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง ได้ให้ญาติของตนในเขตอำเภอบ้านแหลมไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"  เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวเพชรบุรีสืบมาจนทุกวันนี้ 
     ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร ขนาดเท่าคนจริง สูงประมาณ ๑๖๗ เซนติเมตร แต่บาตรนั้นสูญหายไปในทะเล เมื่อได้ขึ้นมาแล้วก็เอามาประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม เรียกว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชาของชาวสมุทรสงครามทั่วไป
     เล่ากันว่า แต่เดิมวัดบ้านแหลมเป็นวัดเล็ก ๆ รอบ ๆ บริเวณวัดก็ยังรถ เป็นป่าโกงกาง ป่าแสม ป่าจากอยู่มาก ชาวบ้านแหลมจึงคิดจะนำพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานที่วัดใหญ่ซึ่งเจริญและเป็นปึกแผ่นกว่า หากแต่ว่าเมื่อบรรทุกเรือจะนำไปวัดใหญ่นั้นเกิดคลื่นลมกล้า ชาวบ้านแหลมจึงต้องนำขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม เมื่อนำพระพุทธรูปองค์นี้มาไว้ที่บ้านแหลมแล้ว ต่อมาก็เกิดอภินิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวบ้านทั่วไป จึงมีคนมาเคารพบูชากันมาก วัดบ้านแหลมจึงเจริญเป็นปึกแผ่นขึ้นมาจนทุกวันนี้
     หลวงพ่อบ้านแหลม มาประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านแหลม ตั้งแต่ปีใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน มีกล่าวไว้แต่ว่าชาวบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี อพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ข้างวัดนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๗ ในระยะนี้คงยังไม่ได้หลวงพ่อบ้านแหลมมาจากทะเล จนกกระทั่งปี พ.ส. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาอตกแล้ว บ้านเมืองก็ยังมีศึกสงครามอยู่ราษฎรตามถิ่นนี้คงอพยพหลบหนีเข้าป่าเข้าดงจนไม่กล้าออกไปทอดแหลากอวนในทะเลตามปกติ ระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๓๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงคงยังไม่ได้หลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมาจากทะเล ในสมัยกรุงธนบุรีก็ยังมีศึกพม่าอยู่เหมือนกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ก็มีศึกบางกุ้งจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๑๗ ก็มีศึกบางแก้ว เข้าใจว่าระหว่างนี้ก็คงยังไม่ได้หลวงพ่อบ้านแหลมมาจากทะเลแต่ก็คงจะได้หลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมา ในสมัยแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เป็นได้ เพราะชาวบ้านคิดจะนำพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่วัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองกว่า วัดใหญ่นั้นเดิมเป็นวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ด้านเหนือขึ้นไป ไม่ใช่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ วัดใหญ่ พึ่งย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันนี้เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งคนทั้งหลายเรียกว่าวัดใหญ่นั้น ก็เมื่อเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) มาสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๓๕๒ นี้เอง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะได้หลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง นับจนถึงบัดนี้ก็ประมาณ ๑๘๐ ปี หรือประมาณ ๖ ชั่วอายุคน

ประวัติหลวงพ่อบ้านแหลม
     หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ศิลปะสุโขทัย องค์พระทำด้วยทองเหลือง สูงใกล้เคียงกับคนจริง (ประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตร) เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า หากไปถึงเมืองสมุทรสงครามแล้ว ไม่ได้กราบหลวงพ่อบ้านแหลม ก็ไม่ได้ไปเมืองสมุทรสงคราม หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระที่มีความเป็นมาร่วมกับหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร และหลวงพ่อโต วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม ทั้งยังเป็นองค์พระที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการขอพรให้สมปรารถนาเช่นเดียวกัน โดยนิยมบนบานขอพรด้วยละคร พวงมาลัย และไข่ต้ม หรือบางครั้งก็มีการจุดปะทัดแก้บนหากสมความปรารถนาแล้ว นอกจากการบนบานขอพรแล้ว ยังมีธรรมเนียมความเชื่อจากชาวประมงท้องถิ่น หากอยากออกเรือเดินทางปลอดภัยแคล้วคลาดจากภยันตราย ค้าขายรุ่งเรือง ให้มาไหว้หลวงพ่อบ้านแหลมก่อนออกเดินทาง ซึ่งความเชื่อนี้ยังได้รับการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาถึงจนทุกวันนี้

     ความเป็นมาของหลวงพ่อบ้านแหลม เป็นตำนานเล่าขานคู่กับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชื่อดังอย่างหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และหลวงพ่อโต วัดพลับพลาไชยชนะสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ โดยเชื่อกันว่าหลวงพ่อบ้านแหลมและพระพุทธรูปอีกสององค์ได้ลอยน้ำมาจนกระทั่งถึงบริเวณหน้าวัดศรีจำปา (หรือวัดบ้านแหลม / วัดเพชรสมุทรวรวิหารในปัจจุบัน) ชาวบ้านได้อาราธนาท่านขึ้นมาประดิษฐานยังที่นี่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (บางตำนานเชื่อว่า พระพุทธรูปลอยน้ำนี้ ยังมีอีก ๒ องค์คือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และหลวงพ่อเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งหมดเป็นองค์พระ ๕ พี่น้อง) ยังมีอีกตำนานหนึ่ง เล่าถึงช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ว่าชาวประมงไปลากอวนหาปลาแถวลำน้ำแม่กลอง ได้พระพุทธรูปมาสององค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง หลังไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ส่วนอีกองค์ที่เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร ได้อาราธนามาประดิษฐานยังวัดศรีจำปา ซึ่งคือวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหารในเวลาต่อมา ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการสร้างหลวงพ่อบ้านแหลม ถึงแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่จากหลักฐานพุทธลักษณะ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าหลวงพ่อบ้านแหลมน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย หรือก็คือไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว


หลวงพ่อบ้านแหลม
     
หลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เสมือนหนึ่งเป็นแก้วมณีอันมีค่าคู่เมืองสมุทรสงคราม ชาวสมุทรสงครามเคารพสักการะพระพุทธรูปองค์นี้กันมาหลายชั่วคน หลวงพ่อบ้านแหลม จึงเป็นเสมือนเจ้าพ่อหลักเมือง  หรือเทวดา ประจำเมืองสมุทรสงครามก็ว่าได้และถ้าจะว่าไปแล้ว หลวงพ่อบ้านแหลมก็มีประวัติ ความเป็นมาคู่กับเมืองสมุทรสงครามทีเดียว พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองไทยมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยฉันใด พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ฉันใด หลวงพ่อวัดบ้านแหลมก็เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองสมุทรสงครามฉันนั้น ใครไปเมืองสมุทรสงครามไม่ได้ไปนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนหนึ่งไม่ได้ไปเมืองสมุทรสงคราม ใครพูดถึงเมืองสมุทรสงคราม ไม่กล่าวถึงนามหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนไม่รู้จักเมืองสมทุรสงคราม ข้าราชการผู้ใดย้ายไปเมืองสมุทรสงคราม ถ้าไม่ได้ไปนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนหนึ่งเข้าไปอาศัยวัด แต่ไม่ได้ไปนมัสการท่านสมภารเจ้าวัด ลูกสมุทรสงครามคนใดไม่เคยเห็นหน้าหลวงพ่อบ้านแหลมก็เปรียบเสมือนลูกกำพร้าเกิดมาไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ความสำคัญของหลวงพ่อบ้านแหลม ถ้าจะเปรียบความก็คงจะเปรียบได้เช่นนี้ 
     ตามตำนานปากเปล่า คือคำบอกเล่ากันสืบ ๆ มานั้น กล่าวว่าหลวงพ่อบ้านแหลมลอยน้ำมาบ้างสององค์พี่น้อง คือหลวงพ่อบ้านแหลมกับหลวงพ่อเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี บ้างว่าสามองค์พี่น้อง คือหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทราด้วย บ้างว่ามีสี่พี่น้อง คือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐมอีกองค์หนึ่ง บ้างก็ว่ามีห้าพี่น้อง คือ หลวงพ่อบางพลี จังหวัดสมุทรปราการด้วย แต่ก็สรุปได้ว่า หลวงพ่อบ้านแหลมลอยน้ำมา ๕ องค์พี่น้อง องค์แรกขึ้นประดิาฐานที่วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์ที่สอง ขึ้นสถิตที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม องค์ที่สามขึ้นสถิตที่วัดบางพลี สมุทรปราการ องค์ที่สี่ขึ้นสถิตที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม องคืที่ห้าขึ้นสถิตที่ววัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์นี้ ล้วนแต่เป็น พระพุทธรูปษศักดิ์สิทธิ์ มีอภินิหารเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองนั้น ๆ และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของประชาชนจังหวัดอื่นทั่วไปด้วย
     มีนิทานเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหลวงพ่อบ้านแหลมสมควรจะได้เล่าไว้ให้ปรากฏพร้อม ๆ กับประวัติวัดเพชรสมุทรด้วย นิทานเรื่องนี้มีใจความว่า ในกาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองเหนือห้าคนบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันมีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งสัจอธิษฐานว่า เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ้ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะขอสร้างบารมีช่วยให้สัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป กว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน ครั้นพระอริยบุคคลทั้ง ๕ องค์นี้ดับขันธ์ไปแล้วก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูป ๕ องค์ มีความปรารถนาจะช่วยทุกข์คนทางเมืองใต้ จึงพากันแสดงฤทธิ์ให้พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำทั้ง ๕ สาย ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำ เห็นพระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ ลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใส จึงพากันอาราธนาให้ขึ้นสถิตอยู่ตามวัดต่าง ๆ 

พระพุทธรูปองค์แรกลอยน้ำไปตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดโสธรเมืองแปดริ้ว เรียกว่า "หลวงพ่อโสธร"
องค์ที่สองลอยน้ำไปตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดไร่ขิงเมืองนครชัยศรี เรียกว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง"
องค์ที่สามลอยน้ำไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบางพลีปากน้ำเจ้าพระยา เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบางพลี"
องค์ที่สี่ลอยน้ำไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลมเมืองแม่กลอง เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม"
องค์ที่ห้าลอยน้ำไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดเขาตะเคราเมืองเพชรบุรี เรียกว่า "หลวงพ่อเขาตะเครา"

พระพุทธลักษณะ

     องค์หลวงพ่อบ้านแหลมนั้น เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางอุ้มบาตร ขนาดสูงแต่ปลายนิ้วพระบาทถึงยอดพระเกศมาลา ๑๖๗ เซนติเมตร คือ เท่าขนาดคนธรรมดานี้เอง ฐานพระบาทสูง ๔๕ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเด่นเป็นพิเศษ คือพระพักตร์งามเหมือนพระพักตร์เป็นเทวดานี้เอง เทวดาจึงมาสิงสถิตรักษาองค์หลวงพ่ออยู่ให้เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ พระหัตถ์เป็นคนละชิ้นกับพาหา ทำให้สามารถถอดออกได้ เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธรูตอยู่ที่วัดโสธรเมืองแปดริ้ว เรียกว่า "หลวงพ่อโสธร"ปทองคำวัดไตรมิตร ก็ถอดออกได้เป็นท่อน ๆ เป็นต้น พระบาทไม่สวมฉลองพระบาทแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเศียรนั้นไม่สวมเทริดชฎาแบบพระโพธิสัตว์ สมัยอยุธยา พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สังฆาฏิพาดยาวลงมาถึงพระชงฆ์ แต่ไม่มีลายเป็นดอกดวงเป็นแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา จีวรทำแผ่เป็นแผ่นแผงอยู่เป็นเบื้องหลัง มีแฉกมุมแบบอยุธยา ฐานรองพระบาทนั้นตอนบนทำเป็นรูปทรงเครื่องเต็มยศ กล่าวคือสวมสายสะพายพาดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ คาดรัดประคตปักดิ้นเงินซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานถวาย เป็นพระพุทธบูชา บาตรแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงประทานถวายหลวงพ่อไว้ในรัชกาลที่ ๕ เวลานี้ทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รัดประคตและบาตรแก้ว ทางวัดเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ พระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมนี้ทางกรมศิลปากรได้จดทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุแห่งชาติแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ ๒๔๙๖ พระพุทธลักษณะของหลวงพ่อบ้านแหลมนี้ ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งอย่างที่เรียกว่ามองดูด้วยใจแล้วก็น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อแทนตัวบุคคลสำคัญในอดีตคนใดคนหนึ่ง อาจเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้ เช่นเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเรียกพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย อย่างน้อยก็เป็นพระพุทธรูปตัวแม่ทัพนายกกองหรือเจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่ชั้นสูงในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดเท่าคนจริง และสร้างอย่างประณีตสวยงามมาก อาจเป็นไปได้ที่วิญญาณของท่านเจ้าของ ผู้สร้างรูปปฏิมากรหลวงพ่อบ้านแหลมได้มาเป็นเทวดามาสิงสถิตรักษาพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ จึงทรงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งของประชาชนผู้ที่ป่วยไข้ได้ทุกข์อยู่ทุกวันนี้

     พระพุทธรูปทองสมัยกรุงสุโขทัย พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์นั้น สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสร้างขึ้นฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ ในสมัยต่อมาทรงศรัทธาเลื่อมใสมากเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อเสด็จกลับมาจากราชการทัพทางเหนือ ก็ทรงแวะนมัสการมีงานฉลอง พระพุทธชินราช เป็นต้น 
     สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชพงศาวดาร กล่าวไว้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๖ นั้น "โปรดให้สถาปนาพระพุทธปฏิมากร ห้ามสมุทรองค์หนึ่ง หุ้มทอง และทรงอาภรณ์ประดับด้วยแหวนอันมีค่าทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์สูง ๔ ศอกคืบเศษทั้งฐาน เป็นที่น่าสังเกตว่าขนาดสูง ๔ ศอกคืบนี้ คือขนาด ๑๖๕-๑๗๐ เซนติเมตร คือขนาดเท่าคนธรรมดานั่นเอง ฉะนั้น ขอสันนิษฐานว่าหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นไปได้ เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ไว้โดยมากเกือบทุก ๆ พระองค์ บางองค์ก็อาจจะสร้างไว้มากกว่าหนึ่งองค์ มีที่เหลืออยู่น้อยองค์นั้น เข้าใจว่าจะถูกพม่าขนเอาไปบ้านเมืองเสียมาก และคงจะจมดินจมน้ำอยู่อีกไม่น้อย ถูกฝังซ่อนอยู่ในถ้ำ ในเจดีย์ก็คงอีกมาก ที่ตกไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ ในประเทศก็คงมีอีกมาก แต่เราไม่ทราบประวัติความเป็นมาของพระพุทธเหล่านั้น หลวงพ่อวัดบ้านแหลมนี้ จึงน่าเชื่อถือว่าเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาองค์ใดองค์หนึ่งเป็นแน่ เป็นด้วยคนไทยขนบรรทุกเรือหนีพม่า หรือว่าพม่าขนบรรทุกเรือ จะเอาไปเมืองพม่าอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แล้วมีเหตุอันเป็นไปนำท่านต่อไปไม่ได้ ท่านจึงจมอยู่ในทะเลชั่วระยะ เวลาหนึ่งไม่นานนัก เพราะถ้านานปีคงถูกน้ำเค็มในทะเลกัดกร่อนมีสนิมมาก ท่านปฏิหาริย์ดำน้ำอยู่พักหนึ่ง จนชาวบ้านแหลมไปตีอวนที่จะได้ปลาฉลามตัวใหญ่ดังที่คาด กลับได้องค์หลวงพ่อขึ้นมาพร้อม ๆ กับหลวงพ่อเขาตะเครา องค์หนึ่งเป็นพระยืนอุ้มบาตร แต่บาตรคงจะจมหายอยู่ในทะเลหรือพม่าจะเอาไปเมืองพม่าเสียก็ไม่ทราบ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ชื่อวัดและตำบลที่ตั้งวัด
     วัดเพชรสมุทร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๔๓๖ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดบ้านแหลม" เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ประมาณแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๙๑ เดิมมีชื่อว่า “วัดศรีจำปา” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ด้านทิศตะวันออก ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๗ ชาวบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี อพยพหนีภัยสงครามพม่ามาอยู่ตำบลแม่กลอง เหนือวัดศรีจำปา ตั้งเป็นหมู่บ้านแหลมและได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีจำปา แล้วจึงเรียกชื่อวัดนี้ใหม่ว่า "วัดบ้านแหลม" ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดบ้านแหลมเป็นพระอารามหลวง โดยพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” 

กำหนดเขตและอุปจารของวัด

วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตย่านชุมชน มีอาณาเขตติดต่อกับตลาดการค้าของวัด ทิศตะวันออกมีเนื้อที่ติดต่อกับถนนเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม มีความยาว ๓ เส้น ๑๑ วา ทิศใต้จดคันคู ยาว ๓ เส้น ๘ วา ทิศตะวันตกจดแม่น้ำแม่กลอง ยาว ๒ เส้น ๑๘ วา ทิศเหนือจดคู ยาว ๒ เส้น ๓ วาเศษ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๖๑ ไร่เศษ

ผู้สร้างวัด

วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างขึ้น และสร้างมาตั้งแต่เมื่อไร ทราบได้เพียงว่า วัดนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่ง และผู้บริหารสืบต่อกันมาเป็นลำดับ

ผู้ปฎิสังขรณ์วัด

วัดนี้มีหลักฐานว่าได้สร้างกันมานาน มีผู้บริหารและผู้ปฎิสังขรณ์สืบต่อกันมาหลายสมัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดบ้าง เท่าที่สืบสวนแล้ว ปรากฏว่าผู้ปฎิสังขรณ์วัดมีอยู่ในภายหลังนี้ ๖ ท่าน ด้วยกันจนถึงปัจจุบัน คือ
๑. หลวงพ่อเบี้ยว ไม่ปรากฏว่าได้สร้างหรือปฎิสังขรณ์อะไรบ้าง
๒. หลวงพ่อร่วง ไม่ปรากฏว่าได้สร้างหรือปฎิสังขรณ์อะไรบ้าง
๓. พระสนิทสมณคุณ (เนตร) ได้ทำการก่อสร้าง และปฎิสังขรณ์สิ่งเหล่านี้คือ
  ๓.๑ สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพราะหลังเก่าเดิมตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้แห่งพระอุโบสถปัจจุบัน ได้ชำรุดเสียหายและพังลงมา จึงย้ายที่มาทำการก่อสร้างใหม่
  ๓.๒ กุฏิสงฆ์ ซึ่งเรียกว่า “กุฏิคณะล่าง” เดี๋ยวนี้
  ๓.๓ ศาลาการเปรียญ เดิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันตกแห่งศาลาการเปรียญปัจจุบัน
๔. พระมหาสิทธิการ (แดง) ได้บูรณะและก่อสร้างสิ่งเหล่านี้
  ๔.๑ ปฎิสังขรณ์พระอุโบสถให้ดีและถาวรยิ่งขึ้นกว่าเดิม
  ๔.๒ สร้างศาลาการเปรียญซึ่งปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
  ๔.๓ ย้ายกุฏิสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระอุโบสถมาสร้างใหม่ ซึ่งเรียกว่า “กุฏิคณะบน”
  ๔.๔ สร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มเติม
๕. พระมหาสิทธิการ (ทอง) ได้ก่อสร้างและปฎิสังขรณ์เสนาสนะ คือ
  ๕.๑ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้สร้างศาลาพักร้อน ทำด้วยไม้สัก เสาคอนกรีต ทาสีเขียว ๒ หลัง
  ๕.๒ พ.ศ. ๒๔๗๓ สร้างกุฏิไม้สักชั้นเดียวยาว ๕ ห้อง ทาสีเขียว ๑ หลัง
  ๕.๓ พ.ศ. ๒๔๙๐ ปฎิสังขรณ์พระอุโบสถขึ้นใหม่ทั้งหลัง เพื่อให้ถาวรและสวยงาม ควรแก่เป็นที่สักการะบูชาของประชาชน
  ๕.๔ สร้างโรงครัว ๑ หลัง
  ๕.๕ ได้ปฎิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ทุกหลัง เพราะของเก่าชำรุดเสียหายมาก
  ๕.๖ พ.ศ. ๒๔๙๘ สร้างกำแพงโดยก่ออิฐถือปูนกั้นอาณาเขตของวัด โดยขนานกับถนนของเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม
  ๕.๗ สร้างกุฏิ ๒ ชั้น “กุฏิปานแก้ว” นายเต่อ นางตุ่น ปานแก้ว เป็นผู้สร้าง
  ๕.๘ สร้างศาลาท่าน้ำ มีช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก ด้านเหนือน้ำ นายสาย สกุลแพทย์ เป็นผู้สร้าง
  ๕.๙ สร้างศาลาท่าน้ำ มีมุขกลาง ทาสี ขุนอาชีวกิจโกศล เป็นผู้สร้าง
  ๕.๑๐ สร้างศาลาท่าน้ำ มีช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก ด้านใต้น้ำ นางละม้าย ชื่นจิตร์ เป็นผู้สร้าง
  ๕.๑๑ สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม พงษ์ธรรมมุทิศ ๒ ชั้น สกุลหุ่นดี เป็นผู้สร้าง
  ๕.๑๒ สมาคมสำนักวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ได้สร้างโรงมหรสพซึงเป็นถาวรวัตถุที่มีผู้อุทิศถวายซึ่งสร้างในสมัยพระมหาสิทธิการ (ทอง) เป็นเจ้าอาวาส
๖. พระธรรมปิฎก ได้สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นตัวตึกทั้งหมด มีจำนวน ๕๒ ห้อง ตั้งอยู่ด้านใต้ของพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญอยู่ด้านทิศเหนือ ของพระอุโบสถ และโรงเรียนปริยัติธรรมก็จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยสร้างขึ้น ณ พื้นที่มุมกำแพงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอุโบสถ มีรายชื่อผู้บริจาคทรัพย์ คือ
  ๑.นายสาย สกุลแพทย์ สร้าง ๑ ห้อง เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท
  ๒.นายชัย นางเล็ก ไชโย สร้าง ๑ ห้อง เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท
  ๓.นางหรุ่น สวนแก้วหิรัญญรัตน์ สร้าง ๑ ห้อง เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท

สิ่งที่เป็นหลักฐานสำคัญของวัด
     ๑. หลวงพ่อวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปสร้างในสมัยสุโขทัย ตลอดองค์วัดได้ ๗ ฟุต เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลือง ข้อพระกรทั้ง ๒ ข้างทำเป็น ๒ ท่อนสวมใส่ได้ พวกชาวบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหนีภัยสงครามมาอยู่ข้างวัด เอาอวนไปจับปลาในทะเล เผอิญติดพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา จึงได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๐๓๗ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

     ๒. พระเจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถ ได้เอาพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากมาบรรจุไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘
     ๓. แท่นพระพุทธบาทจำลอง ๑ แท่น
     ๔. พ.ศ. ๒๔๙๖ กรมศิลปากรได้นำพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เข้าบัญชีกรมศิลปากรเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

ถาวรวัตถุในวัด
     ถาวรวัตถุในวัดมีดังนี้คือ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กุฏิสงฆ์ ๒๓ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง หอฉัน ๔ หลัง ศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง โรงครัว ๑ หลัง ร.ร.ปริยัติธรรม ๑ หลัง กุฏิกัมมัฏฐาน ๑ หลัง โรงมหรสพ ๑ หลัง และยังมีของที่พระราชทานและมีผู้ให้อีก คือ

     ๑. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ องค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงถวายหลวงพ่อบ้านแหลม หลังจากเสด็จมาทรงมนัสการแล้ว
     ๒. พระบรมฉายาลักษณ์ สีน้ำมัน ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายหลวงพ่อบ้านแหลม (เวลานี้อยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัด “ศรัทธาสมุทร”)
     ๓. สายสะพายปักดิ้น ๒ สาย คือ สายหนึ่งจารึกพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. อีกสายหนึ่งจารึก พระบรมฉายาลักษณ์ รัดประคตเอวปักดิ้น ๑ สาย เป็นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงมอบถวายหลวงพ่อบ้านแหลม
     ๔. ลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ ๖) ๑ ฉบับ โดยนำส่งเงินจำนวน ๘๐๐ บาทของสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๕ ทรงมอบถวายหลวงพ่อบ้านแหลม
     ๕. บาตรแก้วเจียระไน สีน้ำเงินแก่ ๑ ลูก เป็นของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุมาศวรเดช ทรงถวายหลวงพ่อบ้านแหลม
     ๖. พระไตรปิฎกฉบับภาษาพม่า ๑ ชุด รัฐบาลพม่าถวายพระเทพเวทีไว้สำหรับประจำวัดในฐานะที่พระเทพเวทีเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปร่วมสังคายนาพระไตรปิฎก ณ ประเทศพม่า
     ๗. พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ชนิดเล่ม ๒ ชุด
     ๘. พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ชนิดใบลาน ๑ ชุด และพระไตรปิฎกภาษาไทยชนิดเล่มรัฐบาลถวายไว้สำหรับพระอารามหลวง ๑ ชุด
     ๙. ธรรมาสน์บุษบกลงรักปิดทอง ๑ ธรรมาสน์ พระมหาสิทธิการ (แดง) เป็นผู้สร้าง
   ๑๐. ธรรมาสน์เทศน์ ๒ ชั้น ลงรักปิดทอง พล.ต.อ.เผ่า และคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ เป็นผู้ถวาย
     ๑๑. ธรรมาสน์เทศน์ประดับมุก ไม่ปรากฏผู้ถวาย
     ๑๒. ธรรมาสน์เทศน์ ลงรักปิดทอง นายม้วน นางกิมซ่วน คชสาร ถวาย
     ๑๓. ธรรมาสน์ปาฎิโมกข์ ปิดทองล่องชาด นายสาย สกุลแพทย์ ถวาย

ที่ธรณีสงฆ์
     ที่ธรณีสงฆ์ของวัด มีที่ดินเป็นที่ก่อสร้างตลาดสด อาคารร้านค้า อาคารเป็นที่อยู่อาศัย และท่าเรือ เป็นที่ตั้งของตลาดแม่กลองเดี๋ยวนี้ มีรายละเอียดดังจะกล่าวต่อไปนี้  ความเจริญและความเสื่อมของวัด เท่าที่สอบสวนหาความจริงแต่ละสมัย เห็นว่าไม่มีสมัยใดเสื่อม หากแต่เป็นความเจริญที่ได้พัฒนาการมาเป็นลำดับ ทั้งด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแพร่ และการสาธารณูปการ เป็นศูนย์กลางแห่งการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรม เป็นที่บำเพ็ญกุศลของทางราชการ เป็นที่สำนักอยู่ของเจ้าคณะจังหวัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวม ๔ องค์ด้วยกัน จึงไม่สมัยใดเสื่อม หากแต่เป็นความเจริญที่ได้พัฒนาการมาเป็นลำดับ

ลำดับเจ้าอาวาส และประวัติย่อของเจ้าอาวาส
     ๑. หลวงพ่อเบี้ยว  วัดราษฎร์

ไม่ปรากฎประวัติ
     ๒. หลวงพ่อร่วง  วัดราษฎร์
นามเดิมชื่ออยู่ เป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราช หลวงพ่อองค์นี้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ คนเลื่อมใสมาก คือเมื่อพูดอย่างไรแล้ว ก็ต้องเป็นอย่างนั้น คล้ายพระร่วง พระเจ้าแผ่นดินเมืองสุโขทัย ครั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ชาวบ้านจึงขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อร่วง" หรือ "พระร่วง" ตั้งแต่นั้นมา ตามคำบอกเล่าที่ควรเชื่อถือได้ ท่านเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานด้วย
     ๓. พระสนิทสมณคุณ (หลวงพ่อเนตร) วัดราษฎร์ ก่อน พ.ศ. ๒๔๐๐ - ๒๔๔๖
นามเดิมชื่อ เนตร เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนประวัติอย่างอื่นไม่ปรากฎ
     ๔. พระมหาสิทธิการ (หลวงพ่อแดง) พ.ศ. ๒๔๔๗ - ๒๔๕๓
นามเดิมชื่อ แดง บิดาชื่อม่วง มารดาชื่อจันทร์ มีพี่น้องรวม ๗ คน ตัวท่านเป็นคนที่ ๓ บ้านเกิดอยู่ตำบลท้ายหาด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม พระสนิทสมณคุณ เป็นพระอุปัชฌายะ ส่วนพระกรรมวาจานุสาสนาจารย์ไม่ปรากฎ ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระสนิทสมณคุณ เมื่อพระอุปัชฌายะของท่านมรณภาพแล้ว ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทน และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม
     ๕. พระมหาสิทธิการ (หลวงปู่ทอง อินฺทสุวณฺโณ) พ.ศ.๒๔๕๔ - ๒๔๙๙
นามเดิมชื่อ ทอง นามบิดาชื่อพลับ นามมารดาชื่ออ้น มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ๕ คน ตัวท่านเป็นคนที่ ๔ ชาตะเมื่อวันอาทิตย์ (เดือนจำไม่ได้) ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เกิดที่ตำบลลมทวน (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านปรก) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่ออายุยังเยาว์ เรียนหนังสือไทยกับอาจารย์ทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดจันทรเจริญสุข เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม พระสนิทสมณคุณ เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม และเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิการทรัพย์ วัดจันทรเจริญสุข เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดแดง (ฐานานุกรมของพระสนิทสมณคุณ ต่อมาเป็นพระมหาสิทธิการ เจ้าคณะจังหวัดองค์ก่อน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า "อินฺทสุวณฺโณ" เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์กับอาจารย์สุขวัดบ้านแหลม และได้ช่วยทำกิจของวัดตลอดมา และต่อมาได้รับแต่งตั้งจากทางราชการคณะสงฆ์เป็นลำดับมา คือ 
พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม และเป็นเจ้าคณะตำบล พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นพระครูศรัทธาโสภิต เจ้าคณะตำบล และเป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรมสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นพระอุปัชฌายะและเป็นผู้รั้งเจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสงคราม และเปลี่ยนพัดเป็นพระครูเจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสงครามในราชทินนามเดิม เป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรมสนามหลวงมณฑลราชบุรี และเป็นกรรมการศึกษาประจำอำเภอเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นพระครูมหาสิทธิการ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นพระมหาสิทธิการ ญาณรักขิตวิจิตรมุนี สังฆปาโมกข์ พระราชาคณะเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๓ กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งเป็นผู้อุปการะโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร พระอารามหลวง หลังจากนี้ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๘ ก็ได้มรภาพ รวมอายุ ๘๙ ปี พรรษา ๖๘
     ๖. เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารีมหาเถร) พระอารามหลวง พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๑๔
นามเดิมชื่อ สนิธ นามฉายา เขมจารี นามสกุล ทั่งจันทร์ เกิดวันจันทร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๗๒ ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ที่บ้านเบิกไพร ตำบลเบิกไพร หมู่ที่ ๓ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นามบิดา นายผล ทั่งจันทร์ นามมารดา นางหลวน ผลาภิรมย์ บ้านเกาะเรียน ตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
     ๗. พระราชสมุทรโมลี (สำรวย ชุตินฺธโร) พระอารามหลวง พ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๑๕
     ๘. พระราชสมุทรเมธี (ประสาร ปญฺญาทีโปมหาเถร) พระอารามหลวง พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๓๕
นามเดิมชื่อ ประสาร นามสกุล คำหอม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน โยมบิดาชื่อ นายฟัก คำหอม โยมมารดาชื่อ นางจันทร์ คำหอม ณ ที่บ้านตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เมื่อเรียนหนังสือชั้นประถมจบแล้ว โยมบิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเชย เจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ ตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
     ๙. พระเทพสมุทรโมลี (ประยงค์ ปิยธมฺโม) พระอารามหลวง พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๖๒
นามเดิมชื่อ ประยงค์ นามสกุล แก้วทับทิม เกิดวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ นามบิดา นายจุน นามมารดา นางดำ บ้านเลขที่ ๑๔/๕ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
     ๑๐. พระราชสมุทรวชิรโสภณ (โสภณ ธมฺมโสภโณ) พระอารามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๕ - ปัจจุบัน

สังเขปประวัติเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร 
พระราชสมุทรวชิรโสภณ ,ดร.  (องค์ปัจจุบัน)
น.ธ.เอก, ประโยค ๑-๒, พธ.ด.
**************************

ชาติภูมิ :

ชื่อ พระราชสมุทรวชิรโสภณ ฉายา ธมฺมโสภโณ อายุ ๘๕ พรรษา ๖๕ วิทยาฐานะ นักธรรมเอก ประโยค ๑-๒  พุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขา การจัดการเชิงพุทธ สังกัด วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง
๑. ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๕
๒. เจ้าอาวาส วัดเพชรสมุทรวรวิหาร

สถานะเดิม :
           ชื่อ โสภณ นามสกุล แย้มกรานต์ เกิดวันเสาร์ ที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๒ นามบิดา นายฟื้น แย้มกรานต์ นามมารดา นางจำเนียร แย้มกรานต์ บ้านเลขที่ ๑๑ หมู่ ๒ ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

บรรพชา :
           วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ วัดบางนางลี่ใหญ่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีพระครูปัญญาสมุทรคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์

 อุปสมบท :
          วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งมีเจ้าประคุณ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเวที เจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพวิสุทธิเมธี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระกรรมวาจารย์ พระราชสมุทรโมลี วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

วิทยฐานะ :
          พ.ศ. ๒๕๐๑   สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๑๐   สอบได้ประโยค ๑-๒ สำนักนักเรียนวัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๔๘   สำเร็จการศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    พ.ศ. ๒๕๕๓   สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี   พุทธศาสตร์บัณฑิต   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
          พ.ศ. ๒๕๕๕   สำเร็จการศึกษาปริญญาโท   พุทธศาสตร์มหาบัณฑิต   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
          พ.ศ. ๒๕๕๘   สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก   พุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

งานปกครอง :
          พ.ศ. ๒๕๑๖  เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
          พ.ศ. ๒๕๓๙  เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ
          พ.ศ. ๒๕๔๒  เป็นเจ้าคณะตำบลแม่กลอง
          พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๖๒  เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๖๓  เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
      พ.ศ. ๒๕๖๕  ได้รับพระบัญชาเป็นเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร พระอารามหลวง

งานการศึกษา :
          พ.ศ. ๒๕๐๗  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดโรงธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๐๘   เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดปทุมคณาวาส จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๐๙  เป็นครูสอนธรรมศึกษา เรือนจำจังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๑๐  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๑๓  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ.๒๕๑๔   เป็นกรรมการสอบบาลีสนามหลวง สนามสอบวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
          พ.ศ.๒๕๔๓   เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
          พ.ศ. ๒๕๕๑  เป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวง นำข้อสอบนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก ไปเปิดสอบ สนามสอบวัดคลองวาฬ พระอารามหลวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
         พ.ศ. ๒๕๕๒  เป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวง นำข้อสอบนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก ไปเปิดสอบ สนามสอบวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี
         พ.ศ. ๒๕๕๓  เป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวง นำข้อสอบนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก ไปเปิดสอบ สนามสอบวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี
         พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๖๐ เป็นกรรมการ จัดอบรมประโยคบาลีก่อนสอบ ภาค ๑๕
                                 เป็นกรรมการจัดสอบประโยคบาลีสนามหลวง สนามสอบจังหวัดสมุทรสงคราม
                                 เป็นกรรมการจัดสอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก ธรรมศึกษาตรี โท เอก สนามสอบวัดเพชรสมุทรวรวิหาร สนามสอบวัดกลางเหนือ จังหวัดสมุทรสงคราม
                                 เป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรมชั้นตรี ธรรมศึกษาตรี ภาค ๑๕
                                 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โรงเรียนเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
                                 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม
         พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๒ เป็นประธานจัดสอบนักธรรมชั้นโท - เอก สนามสอบวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
                                 เป็นคณะกรรมการ จัดอบรมประโยคบาลี สนามสอบคณะจังหวัดสมุทรสงคราม
                                 เป็นประธานจัดสอบประโยคบาลีสนามหลวง สนามสอบวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
                                 เป็นประธานจัดสอบธรรมศึกษาตรี โท เอก สนามสอบวัดเพชรสมุทรวรวิหาร

โล่และเกียรติบัตร ดังนี้
          พ.ศ.๒๕๕๙ ได้รับรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์ เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงเป็นประธานมอบรางวัล   ณ หอประชุมพุทธมณฑล  ตำบลพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม
          วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
          - ได้รับโล่เกียรติคุณผู้ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ดีเด่นของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานมอบโล่เกียรติคุณ ณ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
          วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๐
          - ได้รับโล่เกียรติคุณการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ดีเด่นเกินร้อยละ ๘๐ ของจังหวัดสมุทรสงคราม  โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานมอบโล่เกียรติคุณ ณ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง  ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
          พ.ศ.๒๕๖๑             
          - ได้รับเกียรติคุณในการบริจาคทรัพย์สร้างอาคารปฏิบัติธรรมโพธิญาณ  มหาวิชชาลัย ประจำพุทธมณฑล  ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานมอบประกาศเกียรติคุณ  ณ  อาคารปฏิบัติธรรม
          - โพธิญาณมหาวิชชาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑
           - ได้รับประกาศเกียรติคุณรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นเกียรติคุณ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑  ด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานมอบประกาศเกียรติคุณ ณ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ  ราชวิทยาลัย  อำเภอวังน้อย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
          พ.ศ.๒๕๖๒             
          - ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร ประเภท ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สาขา  การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ  จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี  สิริกิจการิณี  พีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ  สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒

สมณศักดิ์ :

          พ.ศ. ๒๕๐๘  เป็นพระธรรมธร ฐานานุกรมใน เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๑๐  เป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมใน พระสมุทรโมลี วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๑๓  เป็นพระครูสมุห์ ฐานานุกรมใน พระราชสมุทรโมลี วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม
          พ.ศ. ๒๕๑๘  เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ในราชทินนามที่พระครูสุนทรสมุทรกิจ   
          พ.ศ. ๒๕๒๓  เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม   
          พ.ศ. ๒๕๒๙  เป็นพระครูสัญญาบัตร  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม           
          พ.ศ. ๒๕๔๙  เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสมุทรวชิรโสภณ
          พ.ศ. ๒๕๖๖  เป็นพระราชาคณะชั้นราช  ในราชทินนามที่ พระราชสมุทรวชิรโสภณ มงคลธรรมากร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระเครื่องและคาถา :
    ปัจจุบันนี้มีผู้หล่อรูปจำลองของหลวงพ่อบ้านแหลมไปบูชากราบไว้ที่บ้านเรือน เป็นพระพุทธรูปประจำบ้านเรือน ประจำรถ ประจำเรือ ประจำสถานที่ราชการก็หลายแห่ง บ้างก็มีรูปถ่ายของหลวงพ่อไว้บูชาแทนตัวท่าน บ้างก็มีรูปจำลองเล็ก ๆ ของท่านนำติดตัวไปไหนมาไหน เป็นที่พึ่งที่ระลึกยามคับขันใช้เป็นพระเครื่องรางประจำตัวกันก็มากต่อมาก การหล่อรูปหลวงพ่อนั้นก็มีทำกันตลอดมาหลายหนหลายคราวแบบต่าง ๆ กัน เช่นเป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรเหมือนองค์ท่านบ้าง เป็นรูปเหรียญขนาดเล็กใหญ่ต่าง ๆ กันบ้าง แม้จะไม่รู้ว่าเข้าพิธีปลุกเสกก็ถือว่าเป็นรูปแทนองค์ท่าน ยิ่งถ้าทราบว่าคราวไหนได้ทำพิธีปลุกเสกตามแบบพิธีก็ยิ่งนิยมกันมาก หาซื้อหาเช่ากันด้วยเงินหลายสิบบาททีเดียว สัญลักษณ์ทางจิตใจของเมืองสมุทรสงครามก็คือหลวงพ่อบ้านแหลม คนจึงมีรูปปฏิมากรของท่านไว้บูชาและติดตัวไว้เป็นที่พึ่งที่ระลึก คราวที่มีทุกข์มีภัย และเป็นที่คร้ามที่เกรงใจในยามที่จะคิดชั่วทำชั่วด้วยรู้ตัวว่าตนยังเป็นมนุษย์ปุถุชน มีกิเลสตัณหาอยู่มาก อาจจะมีทุกข์มีภัย อาจเผลอใจไปประกอบกรรมทำชั่วเข้าบ้างในบางเวลา มีหลวงพ่ออยู่ใกล้ ๆ จะได้เป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นที่ยึดเหนี่ยวในเรื่องจิตใจ เป็นที่คร้ามที่เกรงได้ เราจะปลอดภัยจากความทุกข์ ความชั่วทั้งหลายได้โดยสวัสดี เมื่อได้กล่าวถึงรูปจำลองอันเป็นพระบูชา และพระเครื่องของหลวงพ่อบ้านแหลมแล้ว ก็ควรที่จะเล่าไว้ด้วย คือเรื่องคาถาหลวงพ่อบ้านแหลม
     เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เกิดโรคอหิวาต์ระบาดผู้คนล้มตายกันมากทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองโดยเฉพาะเมืองสมุทรสงคราม ผู้คนล้มตายกันมากจนผู้คนเงียบเหงาไปทั้งเมือง ไม่มีใครอยากออกจากบ้านไม่มีใครเผาศพใคร ด้วยยังเชื่อกันว่าเป็นโรคผี โรคห่า ขณะนั้นวัดบ้านแหลม ท่านเจ้าคุณพระสนิทสมณคุณ (เนตร) เป็นเจ้าอาวาส คืนนั้นท่านฝันว่า หลวงพ่อบ้านแหลมมาบอกท่านว่าให้จดเอาคาถาที่มือท่านไปเสกน้ำมนต์อาบกินแก้โรคอหิวาต์ ท่านจึงลุกขึ้นไปปลุกขุนประชานิยม (อ่อง ประชานิยม) กลางดึกให้เข้าไปในโบสถ์ ท่านได้เอาเทียนส่องดูที่พระหัตถ์ขวาของหลวงพ่อบ้านแหลม ก็ปรากฏว่าที่พระหัตถ์ขวามีอักขระว่า "นะ มะ ระ อะ" ที่พระหัตถ์ซ้ายมีอักขระว่า "นะ เท วะ อะ" ท่านจึงจดคาถานี้ไว้ทำน้ำมนต์ ให้เอาไปทำนิมนต์กินอาบกัน ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บก็เงียบสงบตั้งแต่นั้นมา
     พระคาถา "นะ มะ ระ อะ" นี้ ท่านพระยาราชพงษานุรักษ์ (ชาย บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นับถือกันมากถึงหน้าสงกรานต์ท่านจะนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป มาฉันอาหารที่จวนของท่านแล้วให้พระสงฆ์เขียนคาถา "นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ" เป็นอักขระขอมปิดไว้ที่ประตูเข้าจวนของท่านทุก ๆ ปี พระครูสมุทธรรมดา (เอิบ มนาโป) เจ้าอาวาสวัดดาวโด่งก็นับถือมาก ได้ทำเหรียญขึ้นเป็นเหรียญเงินรูปกลม จารึกคาถานี้ไว้ด้านหลังว่าขลังนัก เล่าว่าชาวบ้านคนหนึ่งมีชื่อนายใหญ่ปอยเปีย สักคาถา "นะ มะ ระ อะ"  ไว้ที่ไหล่ขวา "นะ เท วะ อะ" ไว้ที่ไหล่ซ้าย ตั้งแต่เด็กวัดมาจนบัดนี้ยังไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอะไรเลย


คาถาบูชาหลวงพ่อบ้านแหลม :
สะทา วะชิระสะมุททะวะระวิหาเร ปะติฏฐิตัง นะระเทเวหิ ปูชิตัง ปัตตะหัตถัง พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิ ทูระโต ฯ

คุณวิเศษ
     คุณลักษณะของหลวงพ่อบ้านแหลม ตามที่ปรากฏในวัติอภินิหารข้างต้นนี้ พอจะประมวลได้เป็นคุณลักษณะของหลวงพ่อ ๙ ประการ
     ๑. เมตตา หลวงพ่อมีเมตตาบารมีสูงเด่นเป็นพิเศษ ปรากฏการณ์ของหลวงพ่อในทางรูปกายเป็นองค์พระพุทธรูปก็ดี เป็นคนทรงก็ดี ล้วนเป็นไปเพื่อบำเพ็ญ เมตตาบารมีทั้งสิ้น ที่จริงรูปกายของหลวงพ่อเป็นพระปางอุ้มบาตร ถ้าจะเรียกกันให้ถูกต้องก็ต้องเรียกว่า "พระปางโปรดสัตว์" เพราะตามตำนานพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทุกวันเวลาเช้ามืดพระองค์จะทรงพิจารณาสรรพสัตว์โดยทิพยจักษุญาณ ว่าสัตว์ใดมีวาสนาบารมีได้รับทุกข์เวรภัยประการใด ที่สมควรจะเสด็จไปโปรดให้พ้นทุกข์ได้ก็จะเสด็จไปโปรดในเวลาเช้า พระองค์เสด็จไปโปรดสัตว์พร้อมบาตร ๑ ใบเสมอ เช่น เสด็จไปโปรด องคุลิมาล ให้พ้นจากการทำบาปใหญ่หลวงในชีวิต ด้วยการจะฆ่ามารดา เป็นต้น เมื่อพระมาลัยเทพเถระ พระอรหันต์ผู้มีชื่อเสียงอีกองค์หนึ่งเสด็จไปโปรดสัตว์นรก ก็อุ้มบาตรไปด้วย รูปพระมาลัยโปรดสัตว์ยังเขียนเป็นรูปพระสะพายบาตรอยู่ ในพงศาวดารชาติไทยในสมัยใน พระนเรศวรมหาราชจะทรงประหารชีวิตแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จราชการศึกชนช้างไม่ทัน สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้วพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒๕ รูป ที่เข้าถวายพระพรขอพระราชทานอภัยโทษชีวิตแม่ทัพนายกองไว้นั้น ก็สะพายบาตรเข้าไปในวังเป็นปริศนาว่าขอบิณฑบาตด้วย แม้ในบัดนี้ถ้าพระสงฆ์จะขอร้องอะไรชาวบ้าน เช่นขอไม่ให้ทะเลาะวิวาทกัน ก็ยังพูดว่า "ขอบิณฑบาตเสียเถิดโยม" ติดปากไปจนถึงชาวบ้านด้วย เช่นจะห้ามไม่ให้เขาตีกันก็ร้องว่า "ขอที ๆ " บางทีก็ได้รับไปทีหนึ่งจริง ๆ ดังนี้เป็นต้น พระอุ้มบาตรจึงเป็นพระโปรดสัตว์ ซึ่งประกอบด้วยเมตตาบารมี หลวงพ่อเป็นพระปางโปรดสัตว์ จึงทรงคุณในเมตาตาสูงมาก
         ๒. มหานิยม หลวงพ่อเป็นพระมหานิยมอย่างเอก มีมหาชนเคารพนับถือมาก ตั้งแต่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เจ้านายขุนนางชั้นสูง ข้าราชการ พ่อค้าคฤหบดี ตลอดจนสามัญชนธรรมดา แม้ชาวต่างชาติต่างภาษาก็เคารพนับถือ เช่น ชาวจีน เป็นต้น หลวงพ่อมีชื่อเสียงเกียรติคุณดีมาก มีคนรักและบูชาทั่วบ้านทั่วเมือง หลวงพ่อจึงเป็นพระทรงคุณค่าในทางมหานิยมอย่างแท้จริง
       ๓. แคล้วคลาด ตามประวัติของหลวงพ่อปรากฏว่าท่านแแคล้วคลาดจากมือศัตรู คือหมู่พม่ารามัญที่ต้องการนำท่านไปเป็นเชลยเมืองพม่า แคล้วคลาดจากการจมอยู่ในทะเลตลอดกาล แคล้วคลาดจากการไปอยู่ยังวัดที่ท่านไม่อยากไปอยู่ แม้หลวงพ่อเองก็ได้ช่วยบันดาลให้มหาชนทั้งหลายที่นับถือท่านแคล้วคลาดจากทุกข์ จากเวร จากภัย จากอุปัทวอันตราย จากคนร้าย จากเสนียดจัญไร สิ่งอัปมงคลทั้งหลายโดยตลอดมา แล้วแต่ใครจะปรารถนาอาราธนาให้หลวงพ่อช่วยทางไหนหลวงพ่อจึงทรงคุณค่าในทางแคล้วคลาดด้วย
       ๔. มีลาภ หลวงพ่ออยู่ที่ใด ย่อมจะมีลาภสักการะไม่ขาดสายไหลรินมาเหมือนสายน้ำ ทั้งของกินของใช้เงินทองทรัพยืสินอื่นๆ จะเห็นได้จากวัดบ้านแหลมที่หลวงพ่อสถิตอยู่เป็นวัดที่มั่งคั่ง ไม่มีวัดใดเสมอเหมือน มีทั้งที่ดิน ตลาด ตึกแถว มีงานปีครั้งใดก็มีรายได้มากมายอย่างน่าอัศจรรย์ หลวงพ่ออยู่ในโบสถ์คนก็ยังเอาหมู เป็ด ไก่ ไปถวาย แม้เครื่องใช้ เช่น ไฟฟ้า ตู้และโต๊ะคนก็เอาถวาย เพราะบารมีหลวงพ่อทั้งสิ้น บาตรของหลวงพ่อจมหายในทะเล ก้ยังมีคนชั้นเจ้าฟ้าซึ่งนับว่าเป็นเทวดาโดยสมมุติ คือ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ นำบาตรแก้วมาถวายคล้ายกับพระพุทธเจ้าที่พระอินทร์นำลาตรมาถวาย เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก แม้สมภารเจ้าวัดใครมาอยู่วัดหลวงพ่อก็อุดมไปด้วยลาภ เรื่องนี้ก็เป็นที่น่าประจักษ์กันอยู่ทั่วไป ถึงวัดเทพประสิทธิ์ที่หลวงพ่อสร้างไว้เช่นเดียวกัน หลวงพ่อบ้านแหลมจึงทรงคุณในทางเจริญด้วยลาภเป็นอย่างยิ่งด้วย
   ๕. มียศ หลวงพ่อเป็นพระพุทธรูป แม้พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงพระราชทานสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงยิ่งมาถวาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๑ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษนี้มีเกียรติสูงกว่าสายสะพายปรมาภรณ์ช้างเผือก ที่บุคคลชั้นนายพลเอกได้รับเสียอีก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนี้ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะต้องเป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูง - ที่ทรงกรมที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ถวายเป็นพุทธบูชาเห็นมีอีกองค์หนึ่งคือ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เท่านั้น หลวงพ่อจึงรุ่งเรืองด้วยเกียรติยศ เป็นที่ปรากฏแก่มหาชน ถ้าหลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ก็คงเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้รับพระราชทานฉัตร ๓ ชั้น เป็นเกียรติยศ เจ้าอาวาสวัดนี้ก็มีสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะตลอดมาทุกรูป ปัจจุบันนี้ก็เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ซึ่งวัดหัวเมืองน้อยรูปจะได้เป็น ยกเว้นวัดพระปฐมเจดีย์หลวงพ่อจึงทรงคุณในทางเจริญด้วยยศ
        ๖. ค้าขาย พระอุ้มบาตร หรือพระประจำวันพุธนั้น โบราณถือว่าเป็นพระดีในทางค้าขายด้วย ดีในทางเจรจาเป็นที่ต้องใจคน พระปางโปรดสัตว์รูปหลวงพ่อนี้ประจำอยู่ห้างร้านบ้านเมืองใด ถ้าหมั่นสักการบูชาให้ถูกต้อง 
        ๗. หายโรค ประวัติหลวงพ่อนั้นทรงคุณค่าว่าขลังในทางรักษาโรค ใครเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างไรบนบานบอกเล่าให้หลวงพ่อช่วย ถ้าไม่เป็นโรคเวรโรคกรรมแล้วก็มักหาย ทุกวันนี้คนมาหาหลวงพ่อและแก้บนส่วนมากเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บทั้งนั้น ที่โรงพยาบาลสมุทรสงครามมีรูปจำลองหลวงพ่ออยู่องค์หนึ่ง คนป่วยคนไข้ก็ถวายพวงมาลัยปิดทองเสียจนไม่มีที่จะแขวนที่จะปิด (เดี๋ยวนี้นักไอระเหย ขโมยเอาไปบูชาส่วนตัวเสียแล้ว) ที่วัดเทพประสิทธิ์มีคนทรงของหลวงพ่อ ก็ปรากฏว่ามีคนไปหารดน้ำมนต์รักษาโรคกันเนืองแน่น จึงอาจกล่าวได้ว่าหลวงพ่อทรงคุณขลังในทางรักษาโรคให้หายได้
        ๘. วิชาการ พระประจำวันพุธนี้ท่านว่าดีในการวิชาการแก่กล้า เพราะดาวพุธในทางโหราศาสตร์นั้น นับถือว่าเด่นทางวิชาการ ใครมีดาวพุธเด่นในดวงชะตา ท่านก็ว่าจะดีเด่นในวิชาความรู้ ยิ่งมีดวงอาทิตย์ร่วมด้วยท่านว่าเป็นนักวิชาการ ยิ่งเด่นมาก หลวงพ่อเป็นพระวันพุธ จึงให้คุณในทางการเรียนการสอบเลื่อนวิทยาฐานะด้วย ขอให้สังเกตประวัติของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เมื่อสอบเปรียญ ๙ ประโยค เถิดจะเห็นจริง
       ๙. รุ่งเรือง ตามประวัติการของหลวงพ่อนั้น รุ่งเรืองเจริญในทุก ๆ ทางทุกด้าน มาเป็นเวลาช้านานนับด้วยร้อยปีไม่มีตกต่ำ มีแต่เจริญยิ่งขึ้นมีคนเคารพนับถือมากยิ่งขึ้น มีเกียรติคุณรุ่งเรืองตามไปด้วย ขอให้สังเกตดูแต่เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลมทุกรูปทุกองค์ แม้รองเจ้าอาวาสก็ล้วนแต่มีความเจริญรุงเรือง มีลาภ มียศ มีเกียรติปรากฏตลอดมาทุกท่าน 

Qr Code บริจาค

ร่วมสร้างอุโบสถ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร

Qr Code บริจาค

วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ค่าน้ำค่าไฟ บำรุงวัด
Back to top